Menu Close

พระมหาธาตุนภเมทนีดล

โมเดลจำลองพระมหาธาตุนภเมทนีดล

       เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นปีมิ่งมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ กองทัพอากาศได้ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายและได้รับพระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” อันมีความหมายว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน”
       พระมหาธาตุนภเมทนีดล มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ รูป ๘ เหลี่ยม ซึ่งหมายถึง มรรค ๘ คือ ความพากเพียรแสวงหาปรมัตถกรรมของพระพุทธเจ้า อันก้องกังสดาล พึงรับรู้กันทั่ว ปานประหนึ่ง เสียงระฆัง มีความสูง ๖๐ เมตร เพื่อเป็นนิมิตรหมายการสร้างเมื่อใพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาส่วนบนสุดเป็นรูปทรงยอดปลีทอง รองรับกลีบบัวบาน หมายถึง การตรัสรู้สู่ปรินิพพานนับว่าเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายใน ห้องโถงทรง ๘ เหลี่ยม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร แกะสลักด้วยหินแกรนิต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระชนมพรรษา ๖๐”
       การตกแต่งพระมหาธาตุนภเมทนีดล คำนึงถึงความสวยงาม เพื่อสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นเมื่อแรกเห็น การประดับประดา แต่ละรายการล้วนมีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เพื่อที่จะให้ปูชนียสถานสำคัญแห่งนี้ปรากฎเป็นเกียรติคุณชั่วกาลนาน

ที่มา : http://phramahathat.com/

พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

       เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ อันเป็นปีมิ่งมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ กองทัพอากาศ ได้ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย และได้รับพระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” อันมีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้าเป็นสิริแห่งดิน”
       พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำรูป ๑๒ เหลี่ยม เป็นเครื่องหมายแทน อัจฉริยธรรม ๑๒ ประการ แห่งองค์พระพุทธมารดา มีความสูง ๕๕ เมตร ต่ำกว่าพระมหาธาตุนภเมทนีดล ๕ เมตร เพื่อแทนความหมายว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระเยาว์กว่าสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ๕ พรรษา
       ที่ยอดปลีสีทองเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และภายในห้องโถงกลางรูปโดม ๑๒ เหลี่ยม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง แกะสลักด้วยหินหยกสีขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคลและทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ(ในรัชกาลที่๙)”
       พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์นี้เน้นการออกแบบที่รูปลักษณ์ และสีสันอันอ่อนช้อยงดงาม สมกับคุณลักษณะตามธรรมชาติของสตรี นอกจากนี้ยังเป็นการออกแบบก่อสร้างตามแนวทางของหลักธรรมะ ข้อที่ว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ” ซึ่งหมายถึง
ธรรมอันเป็นไปในทางฝักใฝ่การบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ที่มา : http://phramahathat.com/

โมเดลจำลองพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

รูปทรงขององค์เจดีย์

       จากแนวความคิดดังกล่าว คณะผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีรูปทรงเป็นรูป ๑๒ เหลี่ยม แสดงความหมายถึง อัจฉริยธรรม ๑๒ ประการ มีระเบียงกว้างโดยรอบเป็น ๒ ระดับ สำหรับให้พุทธศาสนิกชนและผู้มาเยี่ยมชมใช้ทำทักษิณาวัฏบูชา หรือเดินชมทัศนียภาพได้โดยรอบ มีความกว้างที่ระดับระเบียงล่าง ๓๗ เมตร แสดงความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่ขอบระเบียงแต่ละระดับ มีซุ้มรูปกลีบบัวประดับอยู่ ๖ ซุ้ม ที่ส่วนยอดขององค์เจดีย์เป็นยอดปลีล้อมด้วยกลีบดอกบัวตูม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กั้นด้วยฉัตร ๙ ชั้นทำด้วยโลหะสีเงิน ภายในเจดีย์เป็นโถง เพดานสูง มีซุ้มประตูทางเข้า ๓ ด้าน ซุ้มประตูด้านหน้าอยู่ตรงกันกับซุ้มประตูด้านหน้าของพระมหาธาตุนภเมทนีดล มีบันไดเชื่อมติดต่อกันที่ชานพักชั้นล่าง องค์พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ มีความสูงจากชานพักชั้นล่างนี้ถึงยอดปลี ๕๕ เมตร ซึ่งต่ำกว่าพระมหาธาตุนภเมทนีดล ๕ เมตร เพื่อแสดงความหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงอ่อนพระชันษากว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๕ พรรษา